วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

มงคล38

ข้อที่ 1: ไม่คบคนพาล

บาลี: อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง)
พาล แปลว่า โง่เขลา อับปัญญา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนพาลคือคนโง่เขลา คนเกเรแม้คนมีปริญญาสูง ๆ แต่ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า คนพาล การไม่คบคนพาลจึงเป็นมงคล เพราะการคบคนพาลพาไปหาผิดและพาเราไปทำสิ่งไม่ดีไม่ร้ายกับตัวเรา การไม่คบคนพาลจึงทำให้พ้นจากโอกาสที่จะหลงเข้าสู่ความผิด นำมาซึ่งความสรรเสริญของคนทั่วไป และประสบความสุขความก้าวหน้าในชีวิต เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อคนพาลระบาดไป เพราะขาดคนสนับสนุน


ข้อที่ 2: คบบัณฑิต

บาลี: ปณฑิตานญฺจ เสวนา (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา)

บัณฑิต แปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ หมายถึง ผู้รู้ทัน และมีเหตุผล ในการกระทำ ในคำที่พูด และเรื่องที่คิด คบบัณฑิตเป็นมงคล เพราะได้ความรู้ ความปลอดภัย ความสรรเสริญ ความสุข เกียรติยศ ชื่อเสียง และชื่อว่าได้ทำความดีด้วย ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย ได้ชื่อว่ามี "กัลยาณมิตร"

ข้อที่ 3: บูชาบุคคลที่ควรบูชา

บาลี: ปูชา จ ปูชนียานํ (ปูชา จะ ปูชะนียานัง)
บูชา คือ สักการะ เคารพ นับถือ ยำเกรง กราบไหว้ ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ การบูชาเป็นมงคล เพราะทำให้เราลดทิฏฐิมานะลงได้ ป้องกันความเห็นผิด และทำให้เราได้แบบอย่างที่ดีจากคนที่เราเคารพ เป็นการขจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมและเป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่นยิ่งขึ้น และได้ชื่อว่าเป็นผู้มี "กตัญญูกตเวที" อีกด้วย


ข้อที่ 4: อยู่ในถิ่นอันสมควร

บาลี: ปฏิรูปเทสวาโส จ (ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ)
ปฏิรูป แปลว่า เหมาะสมหรือสมควร เทสะ แปลว่าสถานที่หรือท้องถิ่น ปฏิรูปเทสวาสะ คือการอยู่ในท้องถิ่นอันสมควร คืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีความพร้อม การอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นมงคล เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้เป็นคนดี คนมีความรู้ถ้าอยู่ในถิ่นที่ไม่ต้องใช้วิชาความรู้ ความรู้นั้นก็หมดค่าไป และทำให้คนเรากล้าต่อการเผชิญกับปัญหา เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ได้รับความสุขกาย สุขใจ มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม

ข้อที่ 5: ทำบุญมาไว้ก่อน

บาลี: ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา)
บุญ แปลว่า ความดี ความสุข สิ่งที่ชำระจิตใจ สิ่งที่ฟอกจิต การทำบุญไว้ก่อนเป็นมงคล เพราะการทำบุญเป็นการสร้างความดี ซึ่งมีระยะเวลายาวนานต้องอดทน เหมือนปลูกต้นไม้ยืนต้นจะต้องคอยผลไม้นั้นเป็นปี ๆ การทำบุญในอดีตส่งผลในปัจจุบัน การทำบุญในปัจจุบันส่งผลในปัจจุบันและอนาคต ผู้ทำความดีจึงต้องคิดว่าเป็นการสร้างฐานแห่งอนาคตไว้ฉะนั้น


เข้าใจมะ

ข้อที่ 6: ตั้งตนชอบ

บาลี: อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ)
อัตตะ หรือ ตน หมายถึงกายกับใจ การตั้งตนไว้ชอบคือการวางตัวในการดำรงชีพ หรือในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและมั่นคง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีคุณภาพชีวิต การตั้งตนไว้ชอบเป็นมงคล เพราะเป็นการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยแก่ตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่น มีความก้าวหน้า เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ และได้รับสมบัติ 3 ประการคือ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ

ข้อที่ 7: เป็นพหูสูต

บาลี: พาหุสจฺจญฺจ (พาหุสัจจัญจะ)
พหู แปลว่ามาก สูต แปลว่าความเป็นผู้ได้สดับตรับฟัง ดังนั้นพหูสูต จึงหมายถึงความเป็นผู้รู้ ได้สดับตรับฟังมาก หรือความเป็นผู้คงแก่เรียน พหูสูตเป็นมงคล เพราะการฟังมาก (ในที่นี้รวมถึงผู้ที่รู้จากการอ่านด้วย) ย่อมเพิ่มวุฒิปัญญา เชาวน์ และไหวพริบ นำความรู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ไปปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือคนอื่นได้มาก และเป็นช่องทางนำความเจริญด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญา


ข้อที่ 8: รอบรู้ในศิลปะ

บาลี: สิปฺปญฺจ (สิปปัญจะ)
สิปปะ หรือ ศิลปะ หมายถึง วิชาชีพหรือความฉลาดในการใช้มือ ความมีศิลปะเป็นมงคล เพราะคนมีศิลปะจะช่วยตัวเองได้ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะใด คนมีศิลปะย่อมเจริญก้าวหน้า ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ดังพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่ว่า "ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย"

ข้อที่ 9: มีวินัยที่ดี

บาลี: วินโย จ สุสิกฺขิโต (วินะโย จะ สุสิกขิโต)
วินัย แปลว่า ข้อแนะนำ บทฝึกหัด ได้แก่ กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้ในสังคมนั้น ๆ มีวินัยเป็นมงคล เพราะวินัยเป็นตัวกำหนดให้เกิดความสามัคคี ความมีระเบียบสร้างความเข้มแข็งในกิจการงานต่าง ๆ ทำให้สังคมที่ดีดำรงอยู่


ข้อที่ 10: มีวาจาอันเป็นสุภาษิต

บาลี: สุภาสิตา จ ยา วาจา (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)
วาจา คือ คำพูด สุภาษิต คือพูดดี คำว่า วาจาสุภาษิตจึงหมายถึงพูดดี วาจาสุภาษิตเป็นมงคล เพราะคนที่พูดวาจาสุภาษิต จะบันดาลให้การงานทั้งปวงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับความสำเร็จในเรื่องที่เจรจา

ข้อที่ 11: ดูแลบำรุงบิดามารดา

บาลี: มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (มาตาปิตุอุปัฏฐานัง)
มารดา แปลว่า ผู้รักษาบุตร ผู้เลี้ยงดูบุตร บิดา แปลว่า ผู้รักใคร่บุตร ผู้ให้สัตว์โลกยินดี การเลี้ยงดูมารดาเป็นมงคล เพราะเป็นการสืบต่อสังคมโดยอัตโนมัติ การบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดา ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีความเจริญก้าวหน้า เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

ข้อที่ 12: ดูแลสงเคราะห์บุตร

บาลี: ปุตฺตสงฺคโห (ปุตตะสังคะโห) แยกมาจาก ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุตตะทารัสสะ สังคะโห)
บุตร แบ่งตามคุณธรรม มี 3 ประเภท คือ 1. อภิชาตบุตร บุตรที่ยิ่งใหญ่กว่ามารดาบิดา 2. อนุชาตบุตร บุตรเสมอมารดาบิดา 3. อวชาตบุตร บุตรที่เลวกว่ามารดาบิดา บุตรทั้ง 3 ประเภทนี้มีอยู่ในทุกสังคม ตระกูลจะมั่นคงได้ บุตรจะต้องเป็นอภิชาตบุตร หรืออนุชาตบุตร ส่วนอวชาตบุตร เกิดมาเพื่อทำลายวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ การเลี้ยงดูบุตรเป็นมงคล เพราะบุตรเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของประเทศชาติ ถ้าเลี้ยงดูบุตรให้ดีได้รับการศึกษา ก็เท่ากับสร้างครอบครัวให้ดี ประเทศชาติจะเจริญมั่นคง การไม่ดูแลบุตรปล่อยให้เป็นจิ้งจอกสังคม มารสังคม เป็นนักเลง เป็นโจร เป็นคนไม่มีวินัย เป็นนักเลงหญิง นักเลงการพนัน เท่ากับว่าทำลายสังคมและประเทศชาติด้วย

ข้อที่ 13: ดูแลสงเคราะห์ภรรยา (สามี)

บาลี: ทารสงฺคโห (ทาระสังคะโห) แยกมาจาก ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุตตะทารัสสะ สังคะโห)
ทาระ แปลว่า เมีย ภรรยา แปลว่า ผู้ที่สามีต้องเลี้ยงดู คือเมีย พระพุทธศาสนา ได้กำหนดหลักการเลี้ยงดู หรือสงเคราะห์ภรรยาไว้ห้าประการ ได้แก่ การยกย่อง ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบเครื่องแต่งตัวตลอดถึงพาออกงานด้วย การเลี้ยงดูภรรยาเป็นมงคล เพราะทำให้ชีวิตครอบครัวมั่นคงยั่งยืนเป็นการร่วมกันสร้างฐานะให้มั่นคง การสงเคราะห์ภรรยาเป็นการสร้างความมั่นคงและมั่นใจให้แก่ภรรยา ครอบครัวมีความสงบสุข ได้รับการยกย่องสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง


ข้อที่ 14: ทำการงานไม่ให้คั่งค้าง

บาลี: อนากุลา จ กมฺมนฺตา (อะนากุลา จะ กัมมันตา)
กรรม หรือการงาน แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ งานทางโลกและงานทางธรรมงานทางโลก ได้แก่ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย บริการ รับราชการ เป็นต้น ส่วนงานทางธรรม ได้แก่ งานสร้างสันติสุขให้แก่โลก ลดละกิเลส ความเห็นแก่ตัว ความริษยา เป็นต้น ให้น้อยลง งานไม่คั่งค้างเป็นมงคล เพราะถ้าหากงานคั่งค้างแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ไม่เห็นผล งานไม่คั่งค้างจะทำให้ฐานะของตน ครอบครัว และประเทศชาติเจริญขึ้นเพราะฉะนั้นงานที่ทำเสร็จเห็นผลงานจึงเป็นมงคล


ข้อที่ 15: ให้ทาน

บาลี: ทานญฺจ (ทานัญจะ)
ทาน แปลว่า ให้ และเป็นการให้ด้วยเจตนาอยากให้ ทานมี 2 อย่างคือ อามิสทาน ให้วัตถุสิ่งของ เช่น ปัจจัย 4 ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น และธรรมทาน ให้สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้อภัย เป็นต้น การให้ทานเป็นมงคล เพราะเป็นการฝึกใจให้เป็นนักเสียสละ เป็นการลดความเห็นแก่ตัว ถ้าต่างคนต่างมุ่งหวังให้ทาน ความเห็นแก่ตัวจะลดลง การทุจริตจะลดลง ทำให้มีชื่อเสียงในสังคม แม้ตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์

ข้อที่ 16: ปฏิบัติธรรม

บาลี: ธมฺมจริยา จ (ธัมมะจะริยา จะ)
ธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าและสาวก จริยา แปลว่าประพฤติ ธรรมจริยา จึงหมายถึง การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก การประพฤติธรรมเป็นมงคล เพราะเป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ผู้ประพฤติธรรมมีแต่ความสุข (ธมฺมจารี สุขํ เสติ) ผู้ประพฤติธรรมได้ชื่อว่าสอนคนอื่นด้วยการประพฤติตลอดเวลา สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและส่วนรวมเป็นผู้สร้างทางสวรรค์เอาไว้

ข้อที่ 17: ช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติ/พี่น้อง

บาลี: ญาตกานญฺจ สงฺคโห (ญาตะกา นัญจะ สังคะโห) การสงเคราะห์ญาติคือ เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้องควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

ข้อที่ 18: ทำงานที่ไม่มีโทษ

บาลี: อนวชฺชานิ กมฺมานิ (อะนะวัชชานิ กัมมานิ) ทำงานที่ไม่มีโทษ คือ งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิดหากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใสเมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไปได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ไม่ผิดกฎหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง
  2. ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม
  3. ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล 5
  4. ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง

[ข้อที่ 19: ละเว้นการทำบาป

บาลี: อารตี วิรตี ปาปา (อาระตี วิระตี ปาปา) บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 คือ

  1. ฆ่าสัตว์
  2. ลักทรัพย์
  3. ประพฤติผิดในกาม
  4. พูดเท็จ
  5. พูดส่อเสียด
  6. พูดคำหยาบ
  7. พูดเพ้อเจ้อ
  8. โลภอยากได้ของเขา
  9. คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น
  10. เห็นผิดเป็นชอบ

ข้อที่ 20: สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

บาลี: มชฺชปานา จ สญฺญโม (มัชชะปานา จะ สัญญะโม) ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่

  1. ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหา ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า
  2. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ
  3. ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน
  4. ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย

ข้อที่ 21: ไม่ดำรงตนอยู่ในความประมาท

บาลี: อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ) ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน ธรรมในที่นี้ก็คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดี และเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้ คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ

  1. ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี
  2. ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี
  3. ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก


ข้อที่ 22: มีความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ

บาลี: คารโว จ (คาระโว จะ) ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์ ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้

  1. พระพุทธเจ้า
  2. พระธรรม
  3. พระสงฆ์
  4. การศึกษา
  5. ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ
  6. การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ

[แก้ไข]ข้อที่ 23: มีความถ่อมตน

บาลี: นิวาโต จ (นิวาโต จะ) ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วแข็ง เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ

  1. ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต
  2. ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้


ข้อที่ 24: มีความสันโดษ

บาลี: สนฺตุฏฺฐี จ (สันตุฏฺะฐี จะ) ความสันโดษ พอใจ ในสิ่งของ เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ

  1. ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
  2. ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น

ข้อที่ 25: มีความกตัญญู

บาลี: กตญฺญุตา (กะตัญญุตา) คือ การรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้

  1. กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น
  2. กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น


ข้อที่ 26: ฟังธรรมตามกาล

บาลี: กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง) เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้าง เพื่อสดับตรับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้น ๆ และนำมาใช้กับชีวิตเรา เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ

  1. วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา
  2. เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการอ่านจากสื่อต่าง ๆ
  3. เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น


ข้อที่ 27: มีความอดทน

บาลี: ขนฺตี จ (ขันตี จะ) ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ

  1. ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมเป็นต้น
  2. ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกายเป็นต้น
  3. ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวังเป็นต้น
  4. ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกายอาทิเช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินเป็นต้น


ข้อที่ 28: เป็นผู้ว่าง่าย

บาลี: โสวจสฺสตา (โสวะจัสสะตา) ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ

  1. ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
  2. ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ
  3. ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม


ข้อที่ 29: ได้เห็นสมณะ

บาลี: สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง) คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ

  1. ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม
  2. ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี
  3. ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใด ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา


ข้อที่ 30: สนทนาธรรมตามกาล

บาลี: กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา) การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

  1. ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี
  2. ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์
  3. ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ
  4. ต้องพูดด้วยความเมตตา
  5. ต้องไม่พูดจาโอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน

ข้อที่ 31: บำเพ็ญตบะ

บาลี: ตโป จ (ตะโป จะ) ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่าง ๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้

  1. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)
  2. การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

ข้อที่ 32: ประพฤติพรหมจรรย์

บาลี: พฺรหฺมจริยญฺจ (พรัหมะจะริยัญจะ) คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ

  1. ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา
  2. ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)
  3. รักษาศีล 5 คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)

ข้อที่ 33: เห็นอริยสัจ

บาลี: อริยสจฺจานทสฺสน (อะริยะสัจจานะทัสสะนะ) อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ 4 ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้

  1. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์
  2. สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
  3. นิโรธ คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง
  4. มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์


ข้อที่ 34: ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

บาลี: นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ) ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์ ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ ท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี 8 ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึก

ข้อที่ 35: มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

บาลี: ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปต (ผุฏฺฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะตะ) คำว่าโลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี 4 ประการคือ

  1. การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา
  2. การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น
  3. การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา
  4. การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย

ข้อที่ 36: มีจิตไม่เศร้าโศก

บาลี: อโสกํ (อะโสกัง) คราวพลักพราก จากญาติ ขาดชีวิต ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่ มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง ท่านว่ามีเหตุอยู่ 5 ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ

  1. ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก
  2. ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
  3. ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนือง ๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
  4. ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา
  5. ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น


ข้อที่ 37: มีจิตปราศจากกิเลส

บาลี: วิรชํ (วิระชัง)

ธุลี คือ กิเลส(สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมไม่ติดอยู่ในจิตที่ฝึกดีแล้ว เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว)
จิตทีฝึกฝนดีแล้วย่อมหลุดพ้นไม่พัวพันอยู่กับกิเลสทั้งปวง เป็นจิตที่ปลอดโปร่งเป็นอิสรเสรีและมีศักยภาพสูงสุด เป็นจิตที่นำเอาความสงบร่มเย็นที่ยั่งยืนมาสู่โลก

ข้อที่ 38: มีจิตเกษม

บาลี: เขมํ (เขมัง) เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ 4 ประการคือ

  1. การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ
  2. การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ
  3. การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ
  4. การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย

มงคล 38

๑. ไม่คบคนพาล
คนพาลคือใคร?
คนพาล คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิด ๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วอะไรควรอะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่า"เหล้า" เป็นของจัญไรทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการแต่คนพาลกลับเห็นว่า "เหล้า" เป็นของประเสริฐเป็นเครื่องกระชับมิตร หรือบัณฑิตเห็นว่า "การเล่นไพ่" เป็นอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า "การเล่นไพ่"เป็นสิ่งดี เป็นการฝึกสมองซ้อมวิชาคำนวณ ดังนี้เป็นต้น
คนพาลเป็นคนเหมือนกับเรา คือมีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา และอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเราก็ได้เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครู อาจารย์ ฯลฯ อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมากแม้กระทั่งอาจบวชเป็นพระภิกษุ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้ มีความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น

ลักษณะของคนพาล
เนื่องจากคนพาลมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่ถูกต้องได้ คนพาลจึงมีลักษณะวิปริตผิดจากคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ
๑. ชอบคิดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดละโมบอยากได้ในทางทุจริต คิดพยาบาทปองร้าย คิดเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ
๒. ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยง พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ
๓. ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ เกะกะเกเร ชอบล้างผลาญชีวิตคนและสัตว์ ลักทรัพย์ ฉุดคร่าอนาจาร ฯลฯ

โทษของความเป็นคนพาล
๑.มีความเห็นผิด ก่อทุกข์ให้ตนเอง
๒.เสียชื่อเสียง ถูกติฉิมนินทา
๓.ไม่มีคนนับถือ ถูกเกลียดชัง
๔.หมดสิริมงคลหมดสง่าราศี
๕.ความชั่วเภทภัยทั้งหลาย จะไหลเข้ามาหาตัว
๖.ทำลายประโยชน์ของตนเองทั่วโลกนี้และโลกหน้า
๗.ทำลายวงศ์ตระกูลของตนเอง
๘.เมื่อละโลกไปแล้วมีอบายภูมิเป็นที่ไป

วิธีสังเกตคนพาล
คนพาลมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ
๑.คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด
ชัก คือ ชักชวน เชิญชวน ชี้ชวน หรือ เสนอแนะ
นำ คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เช่น ชักชวนหนีโรงเรียน ชักชวนไปปล้นจี้ ชักชวนหนีตามกันไป ชักนำไปเป็นอันธพาล ฯลฯ การชักนำนี้อาจทำด้วยความหวังดีก็ได้ แต่ว่ามันผิด เช่นได้เงินมาก็ชักชวนเพื่อนไปเลี้ยงเหล้าเที่ยวกลางคือ อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนพาล
ผู้ที่ยังเยาว์วัยอ่อนความคิด อ่อนสติ มักถูกชักนำได้โดยง่าย ผู้ใหญ่ในบ้านจึงควรระมัดระวังการกระทำ และคำพูดทั้งของตนเองและผู้ที่มาติดต่อคบหา เพราะเด็กมักจะจำ และทำตามอย่าง
๒.คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เกะกะเกเรหน้าที่การงานของตนไม่พยายามจัดการให้เรียบร้อย แต่ชอบไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เช่น จับผิดผู้ร่วมงาน เขียนบัตรสนเท่ห์ กลั่นแกล้ง รังแก ทำความรบกวนให้เดือดร้อน ฯลฯ
๓.คนพาลชอบแต่สิ่งผิด ๆ ชอบถือเอาสิ่งที่ชั่วว่าเป็นดี เช่น ชอบค้าของเถื่อน ชอบหนีโรงเรียน ชอบเถียงพ่อแม่ ฯลฯ เห็นคนทำถูกเป็นคนเซ่อเห็นคนกลัวผิดเป็นคนเซอะ ฯลฯ
๔.คนพาลแม้พูดดีๆ ก็โกรธ เช่น เตือนให้ดูหนังสือตอนใกล้สอบ ก็โกรธ เตือนให้ตื่นเช้าก็โกรธ แค่มองหน้าบางครั้งก็ยังโกรธ ฯลฯ
๕.คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย เช่น ไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะบนพื้นถนน ไปทำงานสาย ฯลฯ

พฤติการณ์ที่เรียกว่า"คบ" คืออย่างไร ?
คบ หมายถึง พฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
ร่วม เช่น ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมก่อการ ร่วมพวก
รับ เช่น รับเป็นเพื่อน รับเป็นภรรยาหรือสามี รับไว้ทำงาน
ให้ เช่น ให้ความไว้วางใจ ให้คำชมเชย ให้ยศให้ตำแหน่ง ให้หยิบยืมสิ่งของ
การไม่คบคนพาล คือ การไม่ยอมมีพฤติกรรมสัมพันธ์ใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นกับคนพาล ถ้าเรายังคบคนพาลอยู่ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตามรีบถอนตัวเสียโดยด่วน อย่าประมาทรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิฉะนั้นจะพลาดติดเชื้อพาลโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพาลตามไปด้วย
โบราณท่านให้คติเตือนไว้ว่า
"ห่างสนุขให้ห่างศอก
ห่างวอกให้ห่างวา
ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์"

โทษของการคบคนพาล
๑.ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด
๒.ย่อมเกิดความหายนะการงานล้มเหลว
๓.ย่อมถูกมองในแง่ร้าย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป
๔.ย่อมอึดอัดใจ เพราะคนพาลแม้เราพูดดี ๆด้วยก็โกรธ
๕.หมู่คณะย่อมแตกความสามัคคี เพราะการยุยงและไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย
๖.ภัยอันตรายต่างๆ ย่อมไหลเข้ามาหาตัว
๗.เมื่อละโลกแล้ว ย่อมมีอบายภูมิเป็นที่ไป

ประเภทของคนพาล
คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.พาลภายนอก คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือ พาลภายใน
๒.พาลภายใน คือ ตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเกเร ไม่ยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง แกล้งไปทำงานสายบ้าง คนอื่นเตือนดี ๆ ก็โกรธบ้าง หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละ คือตัวพาล มีเชื้อสายพาลอยู่ใน ต้องรีบแก้ไข

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ที่เที่ยวฝรั่งเศษ

ฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศส หลายคนอาจคิดว่าสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ยาก ด้วยภาษาที่มีเอกลักษณ์และการใช้ชีวิตที่มีรสนิยมหรูหรา จึงไม่แปลกที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับคนมีเงิน ไม่ว่าจะด้วยมนเสน่ห์ของน้ำหอม การซื้อเสื้อผ้า สถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ปารีส เป็นจุดชมวิวที่น่าสนใจจนหลายคนอดไม่ได้ที่จะวางแผนจัดทริปเดินทางเพื่อไปชม หอไอเฟล (Eiffel Tower) ก่อสร้างที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

เมื่อต้องการพักผ่อนหย่อนใจกับที่พักตากอากาศเหล่าดาราชั้นนำมักจะไปที่ โดวิลส์ ที่นี่มีชายหาดและบรรยากาศส่วนตัวและพนักงานคอยบริการเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีร้านค้าให้เลือกช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ของฝรั่งเศส

นอกจากน้ำหอมแล้วฝรั่งเศสยังถือเป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นเยี่ยม เพื่อส่งออกต่างประเทศจนมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

ปารีส

ปารีส จัดว่าเป็น "นครแห่งแสงไฟ" ของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนแม่น้ำแซน บริเวณตอนเหนือของประเทศ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ล้ำสมัย ด้วยอิทธิพลของการเมืองการปกครอง การศึกษา บันเทิง วิทยาศาสตร์และศิลปะ ทำให้กรุงปารีสเป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวนั้นก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเคยชินของสภาพอากาศ แต่การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือไปเที่ยวในฤดูกาลใดก็ได้ที่ไม่ใช่ช่วงฤดูหนาว เพื่อความสะดวกในการเดินทางนั่นเอง

สถานที่ท่องเที่ยวในปารีสมีอยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ หลายแห่ง แต่จุดที่สนใจที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวก็คือ หอไอเฟล (Eiffel Tower) ที่เป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ของโลก

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

วิธีการรักษาผมให้สวยเงางาม


การสร้างเสน่ห์ให้กับตนเองด้วยการดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนที่รักสวยรักงาม วันนี้ Tips สุขภาพ กับ สสส. มีวิธีดูแลผม เสน่ห์อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามมาฝากกันคะ

เริ่มต้นที่คนที่มีปัญหาเรื่องผมแห้ง ซึ่งคนที่มีผมแห้งมักจะมีปัญหาเรื่องการหวีจัดทรงยาก ผมไม่มีสปริงไม่มีน้ำหนักขาดชีวิตชีวา ทำให้หนังศีรษะแห้งและเกิดสะเก็ดรังแคง่าย ลองใช้น้ำมันมะพร้าวผสมกับไข่ไก่ดูสิค่ะ วิธีการทำเพียงใช้น้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะตั้งไฟอ่อนผสมกับไข่ไก่ 1 ฟอง (เอาเฉพาะไข่แดง) ตีให้เข้ากัน หลังจากนั้นให้รอจนเย็นแล้วนำไปลูบให้ทั่วศีรษะ นวดด้วยปลายนิ้วให้ทั่วทั้งด้านหน้าจรดท้ายทอย โดยใช้ฝ่ามือขยำๆ ขยี้ๆ ให้ทั่วเพื่อให้ซึมเข้าสู่เส้นผม หลังจากนั้นใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กคลุมเอาไว้ หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำอุ่น แล้วสระด้วยแชมพูอ่อนๆ อีกครั้ง ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผมจะนุ่มดูมีน้ำหนักและจัดทรงง่ายขึ้นค่ะ

แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นของไข่ไก่ให้ลองใช้สูตรน้ำมันมะกอกดูก็ได้ค่ะ เพียงนำน้ำมันมะกอกอุ่นๆ 2-3 ช้อนโต๊ะ นำมานวดหนังศีรษะหวีและชโลมเส้นผมให้ทั่ว ซึ่งวิธีการนวดให้นวดเป็นวงกลมเล็กๆ เมื่อนวดจนทั่วศีรษะแล้วให้ใช้ผ้าขนหนูพันศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นให้สระด้วยแชมพูอ่อนๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น วิธีนี้จะช่วยบำรุงเส้นผมให้กลับมามีสภาพดีได้เหมือนกันค่ะ

ต่อมาสำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับรังแคบนศีรษะ เพราะเมื่อไรที่รังแคมาเยือนมักจะมีอาการคันตามมาเสมอ แถมยังสร้างความอับอายขายหน้าด้วยการออกมาโชว์ให้เห็นกันอยู่เสมอๆ ลองใช้สูตรน้ำมะนาว หรือ น้ำมะกรูด กันดูสิคะ วิธีการไม่ยากค่ะเพียงคั้นน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดที่ผ่านการเผาไฟแล้ว มานวดหนังศีรษะหลังสระผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ให้ล้างออก เพียงแค่นี้ก็สามารถช่วยลดเจ้ารังแคออกจากศีรษะได้แล้วละคะ

สำหรับคนที่มีผมอ่อนแอหลุดร่วงง่ายลองใช้ ขิง แก้ผมร่วงดูสิคะ เชื่อได้เลยว่าใช้แล้วปัญหา หัวล้าน จะไม่มาเยือนคุณแน่นอน วิธีการง่ายๆ เพียงนำเหง้าขิงสดมาเผาไฟ ทุบให้แตกผสมน้ำนำไปขยี้ให้ทั่วศีรษะ วันละ 2 ครั้ง ประมาณ 3 วัน หรือนำขิงแก่ 1 เหง้า ขนาดเท่าฝ่ามือมาตำให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาวบางเป็นลูกประคบ วางบนหม้อประคบที่ต้มน้ำจนเดือด เมื่อลูกประคบร้อนนำไปประคบบริเวณผมร่วง ทำวันละ 2 ครั้ง 20-30 นาที 3-5 วัน จะเห็นผล

ส่วนคนที่มีเส้นผมหยิกหยักศกที่สำคัญยังพบอาการแห้งและฟู ยิ่งถ้าทั้งหยิกและหนาด้วยแล้วล่ะก็จะทำให้ศีรษะดูโต ฟูมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ายังชอบผมทรงนี้อยู่ไม่อยากที่จะยืดให้ตรงแล้วละก็หมั่นบำรุงดูแลรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้สิคะ นำน้ำกับน้ำมะนาวผสมกันให้เจือจางหลังจากนั้นนำมาชโลมผมหลังจากล้างผมน้ำสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น กรดในน้ำมะนาวจะช่วยให้ไฟเบอร์ในผมยึดเกาะกันได้แน่น ผมจะเรียบ-หวีง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ผมดูเงางามได้ค่ะ

ผมมันก็เป็นผมอีกแบบที่มักสร้างปัญหาตามมามากมายทั้งเป็นสะเก็ดรังแค หนังศีรษะคันง่าย การรักษาความสะอาดของเส้นผมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำได้ แต่ทางที่ดีต้องบำรุงรักษาด้วยไข่ขาวผสมน้ำอุ่นดูสิคะ รับรองอาการมันจะลดลงและหมดไปในที่สุดค่ะ วิธีการคือ ใช้ไข่ขาว 1 ฟองกับน้ำอุ่น ½ แก้วตีให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำไปราดลงบนผมเส้น ใช้มือนวดให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 8-10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำอุ่นโดยไม่ต้องสระผมซ้ำ ทำอย่างนี้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผมจะค่อยๆ ปรับสภาพ และหายมันค่ะ

สำหรับคนผมแตกปลาย พบมากในคนที่ชอบทำสีผม การม้วนผมหรือการดัด ตัดซอยด้วยใบมีดโกน หรือในคนที่ต้องใช้ความร้อนกับผมบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมอย่างขาดความระมัดระวังก็ตาม วันนี้หมดกังวลได้เลยค่ะ แค่ใช้ไข่ไก่ผสมกับน้ำมันงาและน้ำผึ้ง โดยใช้ไข่ไก่ (เฉพาะไข่แดง) จำนวน 2 ฟอง ผสมกับน้ำมันงา 4 ช้อนโต๊ะ และน้ำผึ้ง 2 ช้อนชา ตีผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้นใช้น้ำอุ่นราดให้ทั่วศีรษะ แล้วค่อยๆ นำส่วนผสมที่ทำไว้เทลงไปให้ทั่วศีรษะคลุมด้วยผ้าขนหนูชุบกับน้ำอุ่นหมักทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วสระออกด้วยแชมพูอ่อนๆ อีกครั้ง แค่นี้ผมแตกปลายก็จะเริ่มมีสุขภาพดีขึ้นแล้วละค่ะ

ผมทำสีก็เช่นกันค่ะต้องรักษาดูแลเป็นพิเศษเพราะเป็นสภาพผมที่อ่อนแอที่สุด นอกจากมีอาการแห้งกรอบภายในเส้นผมจะมีรูพรุนอยู่ทั่วไป ที่สำคัญยังเป็นต้นเหตุของปัญหาเส้นผมทั้งผมร่วง แห้ง เสีย หากไม่อยากให้เส้นผมมีอายุการใช้งานสั้นเกินไปลองนำสูตรการดูแลเส้นผมสูตรนี้ไปใช้ดู สูตรน้ำมะนาว วิธีการทำให้นำน้ำมะนาวจำนวน 2 ผลมาคั้นเอาแต่น้ำใส่บริเวณโคนผม ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้เป่าผมจนแห้ง วิธีนี้จะช่วยให้สีผมที่ทำมาชัดขึ้นแถมยังบำรุงหนังศีรษะได้ด้วยค่ะ

แต่ทั้งนี้เพื่อให้เส้นผมอยู่กับเราไปนานๆ การเสริมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเส้นผมจากภายในด้วยการเลือกกินอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผมก็จำเป็นเช่นกันค่ะ ซึ่งอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูงอย่าง ฟักทอง มะละกอ ตำลึง หรือ

แครอท เหล่านี้จะช่วยให้ผมเงางามและมีน้ำหนักขึ้นได้ แต่ควรเสริมวิตามินซีและอี ธาตุสังกะสี ธาตุเหล็ก จากอาหารจำพวกข้าวไม่ขัดขาว ข้าวสาลี ไข่ ถั่ว นม ธัญพืช ผักผลไม้ และตับ เข้าไปด้วยจะทำให้ผมดูดียิ่งขึ้นได้ ที่สำคัญควรลดการดื่มน้ำอัดลมเพราะทำให้เลือดเป็นกรดและส่งผลให้เส้นผมสูญเสียแร่ธาตุไปในตัวได้คะ

รู้อย่างนี้แล้วหากต้องการมีผมสวยลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดูนะค่ะแล้วคุณจะรู้ ผมสวย” อยู่ใกล้มือคุณนิดเดียว....